บทความ

การใช้งาน Mixer ใน Studio เบื้องต้น

โดย Millionhead ในวันที่ 23 ก.ค. 2565, 17:00 น.

image

การใช้งาน Mixer ใน Studio เบื้องต้น

 

Mixer หรือเครื่องผสมเสียง ที่หลายๆ คนรู้จักกันดีในวงการคนทำเพลง คือเป็นเครื่องที่มีหน้าที่ผสมเสียงจากหลายๆ แหล่ง ไม่ว่าจะเป็น ไมโครโฟน เครื่องดนตรีต่างๆ รวมไปถึงเสียงจากแหล่งกำเหนิดเสียง เช่น เครื่องเล่น CD MP3 NOTEBOOK เป็นต้น รวมเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยน หรือปรับแต่งสัญญาณเสียง ตามที่เราต้องการว่าอยากจะให้เสียงออกมา และส่งสัญญาณเสียงออกไปหาอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องขยายเสียงเป็นต้น

 

โดยในวันนี้แอดจะพามาทำความรู้จักกับ Mixer ให้ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้มือใหม่ได้รู้จัก หรือช่วยย้ำเตือนให้กับผู้ที่หลงลืมไปแล้วว่า ว่าปุ่มแต่ละปุ่ม มีหน้าที่อะไรกันบ้าง 

 

ภาค Input / Output

เป็นช่องรับสัญญาณ จากแหล่งต้นเกิดเสียงชนิดต่างๆ (Source) เช่น ไมโครโฟน อุปกรณ์เครื่องดนตรี เครื่องเล่นเพลเยอร์ชนิดต่างๆ โดยเชื่อมต่อเข้ากับแจ็ค ซึ่งก็มีทั้งแบบ XLR, ¼” TRS /TS, RCA, Mini Jack 3.5 mm และในแบบ Combo Jack ที่สามารถเลือกใช้งานทั้ง XLR และ ¼” TRS /TS ได้ในช่องเดียว

 

ส่วนภาค Output

เป็นช่องส่งสัญญาณออกไปยังอุปกรณ์ขยายเสียงนั่นเอง ซึ่งก็ใช้การเชื่อมต่อแบบเดียวกันกับภาค Input โดยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น และยี่ห้อของมิกเซอร์

 

Phantom +48V

ทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์ (Condenser) หรืออุปกรณ์ที่ต้องการใช้ไฟเลี้ยง เช่น กล่องดีไอบ๊อกซ์ (DI Box) ชนิดแอคทีฟ (Active) ไฟที่ออกมาจะเป็นไฟ DC ซึ่งมีแรงดันระหว่าง 12-48 V (โวลต์)  มิกเซอร์บางรุ่น สามารถปล่อย +48V แยกช่องอิสระได้ หรือจะเป็นปุ่มเดียวจบ ปล่อยไฟเลี้ยงทุกช่องก็ได้

 

Hi-Z

เป็นช่องที่ออกแบบมาเพื่อรองรับอุปกรณ์เครื่องดนตรี ที่มีค่าความต้านทานสูง (High Impedance) เช่น กีตาร์, เบส เป็นต้น การทำงานของช่อง Hi-Z คือ ปรับค่าความต้านทานที่มีค่าความต้านทานสูง ของเครื่องดนตรีให้มีความสมดุล และแมตช์เข้ากัน ให้เสียงมีความอิ่ม และมีคุณภาพเสียงที่ดี

 

Pad

เป็นปุ่มที่สามารถลดทอนความแรงของสัญญาณที่เข้ามาได้ โดยส่วนมากจะลดระดับความแรงลงไป -26dB (หรือตามที่มิกเซอร์ระบุ) โดยปกติแล้ว ปุ่มนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อ สัญญาณที่เข้ามานั้น มีความแรงเกินที่ช่องสัญญาณขาเข้าจะรับได้ เพื่อรักษาระดับก่อนสัญญาณเข้าสู่ขาเข้า(Gain)

 

Gain

ทำหน้าที่ปรับระดับอัตราการขยาย ความแรงของสัญญาณขาเข้าของมิกเซอร์  ว่าต้องการให้มีระดับ ความแรงที่เท่าไหร่ ซึ่งบางรุ่น อาจจะใช้ชื่อเรียกว่าปุ่มทริม (Trim) และมิกเซอร์บางตัวจะมีปุ่มเกน (Gain) การปรับเกนบนมิกเซอร์ถือว่าสำคัญมาก  เราควรปรับให้อยู่ในระดับความแรงของสัญญาณที่เหมาะสมอย่างที่สุด เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงทีดี และมีคุณภาพ

 

Effect

เป็นฟังก์ชั่นหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนเสียงให้มีความพิเศษ ไพเราะขึ้น หรือมีความแปลกกว่าเสียงเดิม ซึ่งมิกเซอร์แต่ละรุ่นจะใส่ชุด Effect ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าทางแบรนด์จะพัฒนาให้ออกมาเป็นแบบไหน

 

Pan

ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายตำแหน่งสัญญาณเสียง การปรับน้ำหนักหรือการเทน้ำหนักของเสียง ให้ไปทางซ้าย หรือทางขวา ก่อนออกสู่ลำโพง ใช้ในกรณีที่เราต้องการมิกซ์เสียงให้เป็นแบบระบบสเตอริโอ (Stereo) หรือ ทำการบาลานซ์เสียง เช่น การบาลานซ์เสียงกลองชุดให้เกิดมิติของเสียง และทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายโอนสัญญาณลงร่องเสียง (Track) เพื่อป้อนเข้าสู่เครื่องบันทึกเสียงอีกด้วย

 

Equalizer

อีควอไลเซอร์ หรือบางท่านเรียกว่า อีคิว(EQ) จะมีหน้าที่ในการปรับแต่งแต่งเสียง ปรับโทนเสียงของแต่ละช่องสัญญาณ ที่เราต้องการปรับบนมิกเซอร์ โดยส่วนมากบน อนาล็อกมิกเซอร์จะมีให้เลือกปรับ 3 Band สามารถปรับเสียง (ทุ้ม-กลาง-แหลม) แต่ก็มีมิกเซอร์รุ่นขนาดใหญ่ๆ ที่สามารถเลือกย่านความถี่เสียงในการปรับได้เช่นกัน ส่วนดิจิตอลมิกเซอร์ จะมีให้เลือกปรับทั้งในแบบพาราเมติกอีคิว และ กราฟฟิกอีคิว ภายในตัว ซึ่งสามารถปรับได้โดยละเอียด ทั้งการปรับค่าความถี่ (Frequency) การปรับความกว้างของช่วงความถี่เสียง Bandwidth (Q) และการปรับเกน (Gain) ดัง-เบาของแต่ละความถี่เสียง ซึ่งเราสามารถเลือกปรับได้อย่างอิสระ และหลากหลายเพิ่มความสะดวกสบายในการปรับแต่งเสียงเป็นอย่างยิ่ง

 

Low Cut หรือ High Pass-Filter

มีความสามารถในการกรองย่านความถี่ต่ำ ที่เราไม่ต้องการออก เพื่อไม่ให้ผ่านไปได้ แต่ยอมให้ความถี่สูงผ่านไปได้ เช่น เราตั้งความถี่ไว้ที่ 100 Hz สัญญาณที่มากกว่า 100 Hz จะสามารถผ่านไปได้โดยสะดวก แต่สัญญาณที่ต่ำกว่า 100 Hz จะไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งในมิกเซอร์บางรุ่นจะใช้คำว่า “Low Cut” (คัดเสียงต่ำทิ้ง) โดยส่วนมากจะใช้กับไมโครโฟนในงานร้อง และพูด เป็นต้น

 

Select/REC

สำหรับปุ่ม Select มีไว้สำหรับกดเพื่อเลือก Channel ที่ต้องการปรับแต่ง สำหรับปุ่มนี้จะมีในมิกเซอร์บางรุ่นเท่านั้น ส่วนปุ่ม REC มีไว้สำหรับกดเมื่อผู้ใช้ต้องการอัดเสียงเพื่อไว้มิกซ์เพลง โดยปุ่มนี้ก็มีในมิกเซอร์บางรุ่น เช่นเดียวกัน

 

Mute

เมื่อกดปุ่มนี้ลงก็จะทำหน้าที่หยุดการทำงานของแต่ละชาแนลชั่วคราว

 

Fader

ทำหน้าที่ปรับเพิ่มลดระดับสัญญาณที่เข้าและออกไปจากมิกเซอร์ output เพื่อป้อนเข้าสู่เครื่องบันทึกเทปหรือเครื่องขยายเสียง บางครั้งเรานิยมเรียกกันทั่วไปว่า วอลลุ่ม (Volume)

 

EFX Libary

เป็นชุดปุ่มควบคุมการทำงาน ทั้งการบันทึกเสียง การใส่ Effect การ Mix รวมไปถึงการกดเล่น/หยุดเล่น เลือกเพลงก่อนหน้า หรือเพลงต่อไป เป็นต้น

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่

Line@ : @millionheadpro
Facebook : millionheadpro
Instagram : millionheadpro